สธ. หนุน “รอบเอวไม่เกินส่วนสูงหารสอง” กลุ่มวัยทำงาน-ผู้สูงอายุ

สุขภาพ

สธ. หนุน “รอบเอวไม่เกินส่วนสูงหารสอง” กลุ่มวัยทำงาน-ผู้สูงอายุ เสริมสร้างสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

แม้ว่าประเด็นเรื่องการยอมรับความแตกต่างทางด้านส่วนสูง น้ำหนัก จะเป็นประเด็นที่กำลังได้รับการขับเคลื่อนในขณะนี้ แต่ปัจจัยทางด้านสุขภาพองค์รวมที่ดี ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการมีสุขภาพที่ดีนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

เตรียมสังคมไทย สู่สังคมผู้สูงอายุคุณภาพ

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว แต่การจะทำให้ประชาชนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยคุณภาพนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่วัยทำงานจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ ให้มีสุขภาพที่ดี ด้วยการประเมินและเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 – 2558 พบว่า สัดส่วนประชากรที่มีค่าดัชนีมวลกาย อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวเกิน เมื่อใช้เกณฑ์รอบเอวปกติน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง เท่ากับร้อยละ 4.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ ก็มีรอบเอวเกินได้ ดังนั้น การประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ทั้งหมด

สุขภาพ

ประเมินโรคอ้วนด้วย ดัชนีมวลกาย และรอบเอวไม่เกินส่วนสูงหารสอง

​นพ.ธงชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเกณฑ์การประเมินและเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีภาวะโภชนาการดี และสุขภาพดี พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์ ได้แก่:

  1. ค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
  2. ค่ารอบเอวปกติไม่เกินส่วนสูงหารสอง

โดยเกณฑ์ทั้งสองสามารถบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียที่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุยังคงใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ ค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนเกณฑ์รอบเอวจะใช้รอบเอวปกติต้องไม่เกินส่วนสูงของตนเองหารด้วยสอง โดยใช้ร่วมกันทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ

กรมอนามัย แนะวิธีลดน้ำหนัก แบบปรับพฤติกรรม ไม่กระทบสุขภาพ

​ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่ต้องการลดอ้วน ลดพุง สามารถปรับพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดย:

  • การกินอาหารให้ตรงเวลามีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน
  • ลดการกินอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ชา กาแฟ ขนมเบเกอรี
  • ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
  • ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ไม่คิดฟุ้งซ่าน