หุ่นยนต์กับการช่วยพัฒนาสุขภาพจิตใจ

สุขภาพ

หุ่นยนต์กับการช่วยพัฒนาสุขภาพจิตใจ

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้นายจ้างดำเนินการส่งเสริม ปกป้องสุขภาพจิตที่ดีในที่ทำงาน แต่การดำเนินการมักถูกจำกัดด้วยเรื่องทรัพยากรและบุคลากรไม่เพียงพอ การนำหุ่นยนต์มาทดแทนได้ตอบโจทย์ว่าช่วยแก้ไขช่องว่างนี้ แต่การศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตนั้นส่วนใหญ่มักทดลองในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยคิดว่าต้องนำหุ่นยนต์ออกจากห้องทดลองและศึกษาว่ามันมีประโยชน์อย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง

สุขภาพ

ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษได้ทำการศึกษาในบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีโดยใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ฝึกสอนเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตในการทำงาน มีพนักงาน 26 คน เข้าร่วมทดสอบเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยแบ่งกลุ่มอยู่กับหุ่นยนต์ 2 แบบที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกอยู่กับหุ่นยนต์ “มิสตี” สูง 36 ซม. คล้ายของเล่น ส่วนอีกกลุ่มอยู่กับ “คิวที” หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์คล้ายเด็กสูงราว 90 ซม. โดยทั้ง 2 แบบจะมีเสียง สีหน้าบนหน้าจอและระบบการสอนที่เหมือนกัน นักวิจัยพบว่าลักษณะทางกายภาพของหุ่นยนต์ส่งผลต่อวิธีที่ผู้เข้าร่วมวิจัย พนักงานที่อยู่กับ “มิสตี” เผยว่ารู้สึกผูกพันกับหุ่นยนต์ เพราะดูเรียบง่ายกว่า ทำให้มีความคาดหวังที่ต่ำกว่าและพูดคุยกับหุ่นยนต์ได้ง่ายกว่า ขณะพวกที่อยู่กับ “คิวที” พบว่าความคาดหวังของพนักงานไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากคาดหวังว่าหุ่นยนต์จะมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ แต่ไม่เป็นไปตามที่คาดเลยไม่ค่อยประทับใจนัก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความแตกต่างระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริง นักวิจัยมองว่าศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในที่ทำงาน การพูดสิ่งต่างๆออกมาดังๆ แม้กระทั่งกับหุ่นยนต์ก็มีประโยชน์ต่อการพยายามปรับปรุงสภาพจิตใจ.

อ่านข่าวอื่นๆเพิ่มเติม ได้ที่นี่ : กรมสุขภาพจิต แนะ ญาติของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดยาเสพติด